IV : Stock

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

ชาร์ลียังคงรวบรวมและวิจัยความล้มเหลวของบุคคล ธุรกิจ รัฐบาล และการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ

  จากนั้นจึงเรียบเรียงสาเหตุเพื่อนำไปสู่รายการเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง ด้วยวิธีนี้เขาสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตได้
ชาร์ลีมีความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่มีขีดจำกัด เขามีความกระตือรือร้นและมีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์อย่างสูง สำหรับเขาแล้วทุกปัญหาสามารถเข้าใจได้ด้วยตนเอง ในมุมมองเขา ทุกสิ่งในจักรวาลมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเพียงแค่เรียงร้อยความรู้เหล่านี้เข้าด้วยกัน ทำให้เขาอุทิศในการศึกษาทุกทฤษฎีที่สำคัญ และสร้างพื้นฐานขึ้นมาเรียกว่า "ปรัชญาของคำพูด" (Worldly Wisdom) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจและลงทุน
แนวความคิดของชาร์ลีอยู่บนพื้นฐานความซื่อสัตย์ต่อความรู้ เขาเชื่อว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป ขีดจำกัดของมันอยู่ที่ความหยั่งรู้และความเข้าใจ ในขณะเดียวกันคุณต้องรวบรวมข้อเท็จจริงใหม่ๆ ที่พิสูจน์ได้ เพื่อตรวจสอบและปรับปรุงความรู้ของคุณ และรู้ว่าสิ่งใดที่คุณรู้และสิ่งใดที่คุณไม่รู้ ถึงกระนั้น ความเข้าใจอย่างแท้จริงของมนุษย์ก็ยังมีขีดจำกัด ดังนั้นการตัดสินใจจึงต้องอยู่ในขอบเขตของคุณที่เรียกว่า “ขอบเขตของความรู้” (Circle of Competence) ความสามารถที่มีขอบเขตเท่านั้นถึงจะเป็นความสามารถที่แท้จริง คำถามอยู่ที่ว่าคุณจะกำหนดขอบเขตความรู้ของคุณได้อย่างไร
ชาร์ลีกล่าวว่า ถ้าเขาต้องเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาจะต้องไม่สามารถปฏิเสธหรือโต้แย้งได้ว่าความคิดนั้นดีกว่า ความคิดจากคนที่เก่งที่สุดในโลกนี้ที่เคยมีอยู่แล้ว  มิฉะนั้นเขาจะไม่เชื่ออย่างเด็ดขาด นั่นหมายความว่าความคิดของเขานอกจากจะต้องริเริ่มสร้างสรรค์แล้วจะต้องไม่เคยผิดอีกด้วย

 ชาร์ลีกล่าวสรุปที่มาของความสำเร็จของเขาด้วยคำคำเดียวคือ "เหตุผล" (Rational) อย่างไรก็ตาม นิยามของเหตุผลที่เขาใช้มีความเข้มงวดมากกว่า ซึ่งทำให้เหตุผลของเขาเป็นเหตุผลที่มีวิสัยทัศน์และเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่เขาไม่ชำนาญเลย เขาก็ยังสามารถระบุประเด็นต่างๆ ที่จำเป็นออกมาได้ บัฟเฟตต์เรียกสิ่งนี้ว่า "ปรากฏการณ์สองนาที" (Two-Minute Effect) บัฟเฟตต์กล่าวว่าชาร์ลีสามารถเข้าใจความซับซ้อนของธุรกิจได้ในเวลาอันสั้นที่ไม่มีใครเทียบได้ ขั้นตอนการลงทุนของเบิร์กไชน์ในบริษัทรถยนต์บีวายดี (BYD Auto) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมจำได้ ในปี 2003 ผมได้ถกเถียงเกี่ยวกับบริษัทนี้เป็นครั้งแรกกับชาร์ลี ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยพบกับหวางชานฟู ประธานบริษัทบีวายดีเลย และไม่เคยไปที่โรงงาน อีกทั้งไม่ค่อยคุ้นเคยกับวัฒนธรรมและตลาดของชาวจีน คำถามและคำวิจารณ์ของเขายังคงเป็นคำถามที่ตรงประเด็นที่สุดที่นักลงทุนคนใดคิดจะลงทุนในบริษัทบีวายดีจะคิดได้จนถึงทุกวันนี้
ทุกคนมีจุดบอด แม้แต่คนที่ฉลาดที่สุดก็ไม่เว้น บัฟเฟตต์กล่าวว่า เบนจามิน เกรแฮม สอนผมให้แค่ซื้อหุ้นถูก แต่ชาร์ลีทำให้ผมเปลี่ยนความคิดยอมเดินออกจากข้อจำกัดในทฤษฎีของเกรแฮม ชาร์ลีชี้จุดบอดในความคิดผม ซึ่งถ้าผมไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเขา ผมก็ยังคงอยู่ในช่วงของการพัฒนาและคลานไปอย่างช้าๆ
ชาร์ลีใช้ชีวิตทั้งหมดศึกษาหายนะของมนุษย์ และชอบหาสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดจากความโน้มเอียงทางจิตวิทยา สิ่งที่มีค่าที่สุดคือเขาทำนายความหายนะของการแพร่หลายของอนุพันธ์ทางการเงิน ช่องโหว่ในทางบัญชีและระบบตรวจสอบ ย้อนกลับไปในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ชาร์ลีและบัฟเฟตต์ได้เตือนถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอนุพันธ์ทางการเงินที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย โชคไม่ดีที่วิกฤติการณ์การเงินในปี 2008 เป็นไปดังที่ชาร์ลีคาดและเข้าใจไว้ก่อนแล้ว
ถ้าเปรียบชาร์ลีกับบัฟเฟตต์แล้ว ชาร์ลีสนใจในสิ่งที่กว้างกว่า ยกตัวอย่างเช่นเขาสนใจในวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ทุกแขนงแล้วนำมารวมกันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเขา เมื่อเทียบกับความคิดที่มาจากหอคอยงาช้างแล้ว ทฤษฎีของชาร์ลีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเท่าที่ผมรู้ ชาร์ลีเป็นคนแรกที่เสนอแนวความคิดทางด้านจิตวิทยาการโน้มเอียงของมนุษย์ และผลกระทบต่อขั้นตอนการตัดสินใจในการลงทุน 10 ปีต่อมา ณ ปัจจุบันหัวข้อ "เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม" (Behavioral Finance) กลายเป็นหัวข้อที่เป็นที่นิยมในการวิจัยในแวดวงนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลเป็นต้น

Ref : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/ceo-blogs/viboon/20100822/349051/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%A1-:-%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A5%E0%B8%B5-%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C-(2).html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น