IV : Stock

วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557

Notes : แนวคิด ชาร์ลี มังเกอร์


“ผมอยากรู้ว่าผมจะตายที่ไหน เพื่อที่ผมจะได้ไม่ไปที่นั่น” เป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของ “ชาร์ลี มังเจอร์” รองประธานบริษัท เบิร์กไชร์ ฮาธาเวย์ ได้เป็นอย่างดี

    “ลี ลู” นักลงทุนเชื้อสายจีนที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับ “ชาร์ลี มังเจอร์” กล่าวถึงบุรุษผู้นี้ว่า “ชาร์ลีเป็นคนที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร โดยเฉพาะเอกลักษณ์ในเรื่องความคิดและบุคลิกภาพ เมื่อไหร่ที่ชาร์ลีคิดในสิ่งใด เขามักจะคิดในทางตรงกันข้าม เช่น เมื่อเขาอยากรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุข ชาร์ลีจะศึกษาว่าทำอย่างไรชีวิตถึงจะทุกข์ เมื่อเขาเรียนรู้วิธีจะทำให้ธุรกิจยิ่งใหญ่และเข้มแข็ง เขาจะเริ่มศึกษาวิธีทำอย่างไรให้ธุรกิจตกต่ำและจบลง หลายคนศึกษาวิธีที่จะประสบความสำเร็จจากตลาดหุ้น แต่ชาร์ลีจะศึกษาว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงได้ล้มเหลวจากตลาดหุ้น”

    “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ก็เคยกล่าวถึงการมองมุมกลับของ “ชาร์ลี มังเจอร์” คู่หูของเขาว่า “บ่อยครั้งที่ผมรู้สึกว่าการศึกษาความล้มเหลวของธุรกิจมีประโยชน์กว่าการ ศึกษาความสำเร็จของธุรกิจ โดยทั่วไปสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจมักจะศึกษาความสำเร็จของธุรกิจ แต่หุ้นส่วนของผม – ชาร์ลี มังเจอร์ กล่าวว่า เขาอยากรู้ว่าเขาจะตายที่ไหน เพื่อที่เขาจะได้ไม่ไปที่นั่น” 


Ref : http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=57985
    การคิดมุมกลับของ “ชาร์ลี มังเจอร์” ก็คือการประเมินสถานการณ์ในแง่ของ Worst Case หรือกรณีที่เลวร้ายที่สุดว่าจะมาจากปัจจัยใดบ้าง เพื่อที่เขาจะได้หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะนำไปสู่สถานการณ์เช่นนั้น

    เขากล่าวแนะนำไว้ว่า “ให้มองมุมกลับอยู่เสมอ พลิกดูอีกด้านหนึ่งของสถานการณ์หรือปัญหา ลองมองมุมกลับดูว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้าแผนการของเราผิดพลาด? และจะทำอย่างไรถ้าคุณได้ไปในที่ที่ไม่ต้องการจะไป? แทนที่จะมองหาความสำเร็จ ลองไล่เรียงแนวทางที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวดู ความเกียจคร้าน, ความอิจฉา, ความไม่พึงพอใจ, ความสงสารตัวเอง หลีกเลี่ยงนิสัยแห่งความล้มเหลวเหล่านี้ แล้วคุณจะประสบความสำเร็จ”

    ในฐานะของนักลงทุน เราสามารถนำเอาวิธีคิดมุมกลับอย่าง “ชาร์ลี มังเจอร์” มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการลงทุนได้ นอกเหนือจากการมองหาแนวทางที่จะได้กำไรจากการลงทุนซึ่งเป็น Best Case เพียงด้านเดียว ลองคิดมุมกลับในแง่ของ Worst Case ดูว่า อะไรบ้างที่จะเป็นสาเหตุทำให้เราขาดทุน เพื่อที่เราจะได้ไม่ไปทำสิ่งนั้น และอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เพื่อเราจะได้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น

    ตัวอย่างเช่น การซื้อหุ้นที่เราไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจกิจการของหุ้นตัวนั้นมากพอ การซื้อหุ้นที่มีราคาแพงกว่าปัจจัยพื้นฐานมากๆ จนไม่มีส่วนต่างเพื่อความปลอดภัย การซื้อหุ้นปั่นหรือหุ้นเก็งกำไรที่มีการไล่ราคาขึ้นไปสูงๆ การซื้อหุ้นของกิจการที่มีพื้นฐานไม่ดี มีผลการดำเนินงานย่ำแย่มาตลอด การซื้อหุ้นที่ผู้บริหารไม่ซื่อสัตย์ ไม่มีธรรมาภิบาล และเอาเปรียบผู้ถือหุ้น การซื้อหุ้นตามโพยหรือตามคนอื่นโดยที่เราไม่รู้จักหุ้นตัวนั้นดีพอ และอื่นๆ อีกหลายประการที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการลงทุนที่อาจสร้างความเสียหาย หรือทำให้ผลตอบแทนทางการลงทุนย่ำแย่ เหล่านี้คือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

    หากนักลงทุนหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้ โอกาสที่จะเกิดความเสียหายหรือขาดทุนก็ย่อมลดน้อยลง และเมื่อเป็นเช่นนั้น โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีก็จะมีมากขึ้น

    นอกจากในแง่ของการลงทุนแล้ว วิธีการคิดมุมกลับอย่าง “ชาร์ลี มังเจอร์” นี้ ยังสามารถนำไปปรับใช้ได้กับเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งคุณอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าวิธีคิดแบบเดิมๆ ก็เป็นได้


ทั้งนี้ มังเกอร์เป็นคนทำให้บัฟเฟตต์เลิกค้นหา “บริษัทระดับปานกลางในราคาถูก” แต่ให้หา “บริษัทยอดเยี่ยม ในราคายุติธรรม” อันเป็นหลักคิดที่พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องอย่างยิ่ง
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น